วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

พละ ๕

พละ ๕ คือธรรมที่เป็นกำลัง ถ้ามีขึ้นบริบูรณ์แล้วก็จะเป็นอินทรีย์ ๕ หรือธรรมที่เป็นใหญ่อันจะทำไปสู้ความสำเร็จ ประกอบด้วย ศรัทธา (ความเชื่อ ) วิริยะ ( ความเพียร) สติ ( ความระลึกได้ ) สมาธิ ( ความตั้งใจมั่น ) และปัญญา ( ความรู้ ) สติ อยู่กลาง คือสติทันกาล ผัสสะที่เกิดกับกายกับจิตรู้ทันทีแล้ว ละ...

ในการเจริญพละ ๕ ก็คล้ายกับอิทธิบาท ๔ คือตัวยังคงโยกซ้ายโยกขวา พร้อมกับภาวนาคำว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ว่าไปอย่างนี้ ๕ เที่ยว ว่าช้า ๆ ไม่ต้องย้อนหลัง เมื่อว่าไปสัก ๓ เที่ยว แล้วก็ลองตรวจสอบดูว่า ธรรมทั้ง ๕ หมวดนี้มีขึ้นในจิต เจริญขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง ความหมายขององค์ธรรมทั้ง ๕ หมวดนี้มีขึ้นในจิตเจริญขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง ความหมายขององค์ธรรมทั้ง ๕ มีดังนี้

ศรัทธา: คือความเชื่อถือ เราเชื่อในกฎแห่งกรรมที่ว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วหรือไม่ เชื่อในพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือไม่กล่าวคือการเชื่อในพระพุทธเจ้าว่ามี พระปัญญาธิคุณ ( ปรีชาญาณหยั่งรู้ ) ตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เองหรือไม่ เชื่อในพระบริสุทธิคุณ ( ความหมดกิเลส) ว่าทรงมีจิตบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองหรือไม่ และเชื่อในพระกรุณาธิคุณ (ช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ถึงนิพพานด้วยการสั่งสอนธรรม) ว่าทรงเสียสละพระองค์สั่งสอนเวไนยสัตว์ ตลอดพระชนม์ชีพหลังจากทรงตรัสรู้แล้วหรือไม่ สำหรับการเชื่อในพระธรรมนั้น ไแก่เชื่อว่าธรรมของพระองค์ปฏิบัติแล้วนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้หรือไม่ ส่วนการเชื่อในพระสงฆ์นั้น ได้แก่ เชื่อว่าเป็นผู้สืบศาสนาให้ยืนยาวเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐตวรแก่การสักการบูชาหรือไม่ หากเรามีความเชื่อในสิ่งนี้แล้วจึงจะเรียกได้ว่ามีศรัทธาในพระรัตนตรัย และถ้ามีศรัทธาเกิดขึ้นจะนำสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเท่านั้นที่จะนำเราพ้นทุกข์ได้ แต่ถ้าเราขาดศรัทธา หรือมีศรัทธาไม่ลึกซึ้ง ก็ยังมีความลังเลสงสัย ไม่ทุ่มเทการปฏิบัติ มีความเกียจคร้าน ไม่เชื่อว่าปฏิบัติแล้วจะได้ผลจริง เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

วิริยะ: คือความเพียร หรือสัมมัปปธาน ๔ หรือเพียร ๔ นั่นเอง ซึ่งจะต้องเพียรหนักยิ่งขึ้นที่จะปฏิบัติเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง ความเพียรนี้ก็เหมือนกับความเพียรในอิทธิบาท ๔ แต่ความเพียรในพละ ๕ จะมีกำลังสูงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะสมาธิมีกำลังดีขึ้น จิตละเอียดขึ้นศรัทธาแนบแน่นขึ้นจากการเพียรปฏิบัติก็จะได้พบปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ ทางสัมผัสทั้ง ๖ ไม่ว่าจะเป็นรูป (ตา) เสียง (หู) กลิ่น ( จมูก) รส(ลิ้น) โผฏฐัพพะ (กาย ) ธรรมารมณ์ ( ใจ) สิ่งที่กระทบนั้นจะละเอียดยิ่งขึ้นไป นิมิตที่ปรากฏก็จะละเอียดขึ้นไป ตามกำลังของสมาธิและตามความละเอียดของจิต

สติ: ความระลึกรู้สึกหรือรู้ตัวจะมีกำลังสูงขึ้น รู้ตัวเร็วขึ้นในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกายกับจิตสติจะคล่องแคล่วว่องไวรับรู้ผัสสะที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นทวารใดทวารหนึ่ง เช่น ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบโผฏฐัพพะหรือสิ่งที่สัมผัสกาย ใจกระทบธรรมารมณ์หรืออารมณ์ที่จิตคิด สติก็จะรู้ได้รวดเร็ว กำลังของสติจะคอยอุปการะจิต ให้จิตมีความแหลมคมและมีกำลังที่จะรู้และละ ต่อสิ่งนั้น (ซึ่งคือตัววิปัสสนาปัญญา ) โดยไม่ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบที่ชัง จิตจะคลายจากกามคุณ ๕ อันมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เท่ากับว่าจิตจะละจากอุปาทานในกามคุณ ๕ นั่นเอง เมื่อสติมีกำลังเช่นนี้ปัญญาก็เกิดตามมา เป็นปัญญาที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ คือมรรคผลนิพพาน

สมาธิ: ได้แก่ความตั้งมั่นของจิต ขณะทำวิปัสสนาต้องควรตรวจดูว่า สมาธิของเราหนักไปอยู่ในฌาน ๔ หรือน้อยไปอยู่ในฌาน๒วิธีตรวจสอบก็โดยการสังเกตนิมิต โดยดูว่านิมิตที่เราเห็นเอียงไปทางซ้าย หรือทางขวา หรืออยู่ตรงกลาง ถ้าเอียงไปทางขวา แสดงว่าสมาธิหนักไปใกล้ฌาน ๔ ถ้าเอียงไปทางซ้าย แสดงว่าสมาธิอ่อนไปอยู่ใกล้ฌาน ๒ แต่ถ้าอยู่ตรงกลางหน้าก็แสดงว่าเราใช้สมาธิกำลังพอเหมาะการปรับสมาธิให้อยู่ ในภาวะสมดุลทำได้โดยการปรับแต่งการโยกของกาย ถ้าสมาธิมากไปเฉียดอยู่ในฌาน ๔ กายจะโยกช้าหรือโยกเบาแทบจะหยุด ก็ให้โยกแรงขึ้นสักหน่อย แต่ถ้าสมาธิอ่อนไปเฉียดฌาน ๒ กายจะโยกเร็วแรง ก็ให้โยกช้าเบาลง สมาธิก็จะอยู่ในภาวะที่เหมาะสม ดังนั้นวิธีโยกกายจึงเป็นประโยชน์ในการปรับระดับของสมาธิอีกทางหนึ่งด้วย การปรับระดับของสมาธิดังกล่าวไม่มีอยู่ในพระอภิธรรม ที่รู้ได้ก็จากประสบการณในการปฏิบัติ ซึ่งกว่าจะพบอาจารย์ก็เสียเวลาไป ๔ - ๕ วัน เพราะไม่มีใครบอกใครสอนมาก่อน

ปัญญา: ได้แก่ความรู้ในธรรมที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ ภาวนาอยู่ โดยตรวจสอบดูว่าธรรมในหมวดใดองค์ใดที่เราภาวนามาแล้วยังบกพร่องอยู่ก็ให้รีบแก้ไขเสีย การรู้ดังกล่าวคือตัวปัญญาแต่ถ้ารู้แล้วยังแก้ไม่ได้แสดงว่าปัญญาในพละ ๕ ของเรายังไม่ดีพอ เมื่อยังไม่ดีพอพละ ๕ ก็ยังไม่สมบูรณ์ และกำลังไม่สมบูรณ์ก็เป็นอินทรีย์๕ ไปไม่ได้ พละ ๕ สมบูรณ์มีกำลังเมื่อใดก็จะเป็นอินทรีย์ ๕ เมื่อนั้น ( คือมีสติรู้เท่าทันต่อผัสสะที่มากระทบ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้ละทันหมด)

อินทรีย์ ๕ : คือธรรมที่เป็นใหญ่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วยองค์ธรรมเช่นเดียวกับพละ ๕ คือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ต่างกันที่องค์ธรรมแต่ละองค์ในอินทรีย์ ๕ มีความสมบูรณ์หรือมีกำลังสูงกว่าพละ ๕ เช่น เมื่อถึงอินทรีย์๕ ตัวสติจะว่องไวและมีกำลังยิ่งขึ้น รู้ตัวเท่าทันต่อผัสสะที่มากระทบทุกอย่าง หากมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เช่น เจ็บปวดจากการนั่ง สมาธิในพละ ๕ ก็สามารถสู้กับเวทนาได้แต่ถ้าพละ ๕ ไม่แข็งก็อาจจะสู้เวทนาไม่ได้ ต้องเปลี่ยนท่านั่งหรือออกจากสมาธิเสียก่อนเป็นการอ่อนแอต่อการปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติให้ถึงมรรคผลต้องสู้กับทุกขเวทนาอย่างไม่ยอมแพ้มัน จากประสบการณที่ผ่านมาอาจารย์เคยเจ็บจนไม่รู้จะทำอย่างไร เอาผ้ารองตั้ง ๒-๓ชั้น ก็แก้ความเจ็บปวดไม่ได้ เจ็บปวดเหมือนมีหนามมีเข็มมาทิ่มแทงที่ก้น แม้เจ็บจนเหงื่อไหลน้ำตาร่วงก็เคยแต่ว่าใจมันคล้ายเสือ มันสู้ไม่ยอมแพ้ ถ้าไม่หายปวดก็จะไม่ยอมออก นั่งเป็นชั่วโมงสองชั่วโมงสามชั่วโมงนี่คือการต่อสู้กับกิเลสมารโดยมีตัว กำลังเป็นตัวฮึดขึ้นมาในใจ นั่งสู้กับมันจนดึกดื่นค่อนคืนไม่ยอมแพ้

พละ ๕: นี้สติอยู่กลาง คือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เมื่อเจริญวิปัสสนาแก่กล้าแล้ว สติของเราก็จะทันต่อผัสสะ เมื่อทันหมดทุกด้านเราก็ละมันทัน มันเกิดเมื่อไรก็ละทันเมื่อนั้นทั้งกายทั้งจิตจิตของเราก็ว่าง แต่อย่าลืมว่าผัสสะที่เกิดขึ้นนั้น จะมีอะไรก็ตามที่มากระทบกายเราเพียงแผ่วเบา เช่นคล้ายกับไรไต่ก็ละเพราะการปฏิบัติธรรมในส่วนวิปัสสนานี้ การที่ผัสสะใด ๆ ก็ตามที่เราได้รับไม่ว่ากระทบกายหรือกระทบจิต ย่อมประกอบไปด้วย ตัณหา (ความอยาก) ทั้งนั้น เช่นเรานั่งกรรมฐานอยู่และลมพัดโชยมาเรารู้สึกว่าเย็นสบาย เราเกิดมีความพอใจ ก็เป็นสุขเวทนา คือเป็น กามตัณหา (ความพอใจในกาม) หรือพวก ราคะ (ความใคร่หรือชอบในสิ่งใด ๆ ) แต่เมื่อเกิดอากาศร้อนอบอ้าวเพราะไม่มีพัดลม เราเกิดความหงุดหงิดไม่พอใจ เป็นพวก วิภวตัณหา จัดเป็นฝ่ายโทสะ ถ้าเราไม่รู้ว่าผัสสะที่เกิดขึ้นนั้นว่าเป็นตัณหาตัวไหน จิตของเราก็เป็น โมหะ การปฏิบัติธรรมเพื่อละกิเลส หรือราคะ โทสะ โมหะ และการที่เรารู้จักการตัดวัฏสงสารใด ก็ต้องตัดที่ตัวตัณหาให้สิ้นไป ธรรมตัวตัณหานี้ก็อยู่ในอริยสัจ ๔ คือตัว สมุทัย ซึ่งเป็นเหตุที่ให้เกิดทุกข์ ตัณหาพาให้เกิดทุกข์ เมื่อเราดับทุกข์เสียได้ทุกข์มันก็เกิดไม่ได้ การปฏิบัติ เพื่อหวังพระนิพพานเราจะต้องมุ่งอยู่ที่ตัวอริยสัจ พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมด้วยธรรมตัวนี้ และพระอรหันต์ทั้งหลายก็ตรัสรู้เช่นเดียวกับพระพุทธองค์ เคยพบบางหมู่เหล่า มุ่งสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้ถึงพระนิพพาน จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อธรรมสติปัฏฐานเป็นเพียงธรรมองค์หนึ่งของมรรคองค์ที่ ๗ เท่านั้น จะถึงพระนิพพานได้อย่างไร มรรคจะต้องสมบูรณ์ทั้ง ๘ องค์และยังจะต้องใช้ธรรมอีก ๖หมวดมาประกอบอีก รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ การนำโพธิปักขิยธรรม ๓๗ มาปฏิบัตินั้น จะบริกรรมจากอิทธิบาท ๔ พละ ๕ (หรืออินทร์ ๕) โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ ไปตามลำดับ ส่วนเพียร ๔ หรือสัมมัปปธาน ๔ ( มรรคองค์ที่ ๖ ) และสติปัฏฐาน ๔ ( มรรคองค์ที่ ๗ ) นั้น นำมาใช้ตอนเจริญวิปัสสนาทั้งเวลานั่งสมาธิและนอกเวลานั่งสมาธิ

การปฏิบัติวิปัสสนาต่อจากสมถะนั้นจักขุญาณมีจำนวนมาก เพราะมีปรากฏตามปฐมเทศนาคือธรรมจักษุ ที่พระพุทธองค์แสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เพราะจักขุญาณนี้เป็นวิชชาหนึ่งใน ๘ ที่จะทำให้เกิดผลในวิชชาบุพเพนิวาสานุสติญาณ เจโตปริยญาณ และจุตูปปาตญาณ ได้ด้วย ถ้าไม่มีจักขุญาณก็เท่ากับคนตาบอด วิชชาทั้ง ๘ ในพระพุทธศาสนานั้นเกี่ยวกับญาณทั้งสิ้น การจะเข้าถึงพระนิพพานได้ก็ต้องมีวิชชาอาสวักขยญาณ มีรู้เห็นนิมิต ตามพระไตรปิฏกกล่าวไว้ว่า " พระนิพพานนั้นไม่สำเร็จด้วยความนึกคิด แต่สำเร็จด้วยความเพียรติดต่อกันไม่ขาดสาย " ปีหนึ่งนั่งกรรมฐานเพียง ๓ เดือน เฉพาะในพรรษา และนั่งเพียงครั้งละ ๑๐-๒๐ นาทีนั้นอย่าหวังเลยจะพบสัจธรรม อาจารย์เพียรมาต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน คือตั้งสัจจะไว้ว่าถ้าไม่รู้ก็สู้แค่ตาย พระบรมครูของเรานั่นแหละเป็นแบบที่เราสมควรจะดำเนินตามกัน

ปัจจุบันมรธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นหลายแห่งในประเทศไทย เราพึงระมัดระวังตัวให้จงหนักถ้าหากถลำตัวเข้าไปแล้วถอนตัวได้ยากนัก ทิฏฐิ มานะ อุทัจจะ เป็นกิเลสที่สำคัญ ผู้ที่จะพ้นสามตัวนี้ได้ก็มีแต่พระอรหันต์ อย่างไรเสียก็อย่าพึ่งไปคิดว่าฉันหมดสมมุติก่อนวิมุตเป็นอันขาด เพระพระนิพพานนั้นถึงด้วยใจ ที่รู้ว่าวิมุตตินั้นเป็นอย่างไร ลักษณะไหน วิมุตติด้วยวาจาคารมนั้นเป็น " นิพพานดิบ " ( นิพพานยังมีขันธ์ ๕ ) แต่วาจาไปด้วยคารมคมคายจนบางแห่งเคยพบคำสอนเป็นธรรมซึ่งพระอรหันต์ท่านดำรง อยู่มาสอนให้ปุถุชนทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ธรรมสำหรับพระอรหันต์ซึ่งหลุดพ้นแล้ว แต่ท่านยังครองตนเป็นมนุษย์อยู่ ที่เรียกว่า " สอุปาทิเสสนิพพาน* " มาสอนให้ปุถุชนปฏิบัติกัน ถ้าใครทำตามได้รับผลเลย ก็คงไปนิพานกันหมดแล้ว จะเป็นไปได้หรือช่วยกันคิดดูเถิด….จบเพียงเท่านี้

* สอุปาทิเสสนิพพาน : หมายถึงนิพพานที่ยังมีอุปาทิเหลืออยู่ , ดับกิเลสแต่ยังมีขันธ์ ๕ เหลืออยู่ คือนิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่

1 ความคิดเห็น:

  1. Top 10 casino games with promo code bet 009 - Bet007
    No, we'll 에스엠카지노 just say: We picked up 007카지노사이트 the best online slots from the best game companies in the world casino games are available to play on some websites,

    ตอบลบ