วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

อเนญชธรรม

อเนญชธรรม

ตามแผนผังการปฏิบัติที่เขียนไว้ เมื่อเจริญธรรมในการปฏิบัติทางสมถะนี้จนถึงมรรค ๘ แล้ว ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เคยเน้นไว้ในมรรค ๘ ว่า เป็นสถานีหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะพึงรู้ คือเมื่อธรรมของเราพร้อมเพรียงดีแล้ว การสัมปยุตธรรมที่มีมาตั้งแต่อิทธิบาท ๔ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้สัมปยุตอยู่ด้วยฌาน ๔ แล้วและเมื่อเราเจริญมรรคทั้ง ๘ สัมปยุตเข้าไปอีก ธรรมทั้งหลายในองค์โพธิปักขิยธรรม ทั้ง ๓๗ ประการนั้น ก็เข้ารวมกันที่เรียกว่าสัมปยุต...

เมื่อเราภาวนามรรค ๘ เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ...เรื่อยมาจนถึงสัมมาสมาธินั้น พอมาถึงสัมมาสมาธิที่โยกซ้ายขวาจะหยุดลงเอง ไม่ใช่เราบังคับให้หยุด หรือเราคิดจะหยุด ธรรมะหยุดให้เอง แต่ก่อนที่จะถึงสัมมาสมาธิ ตอนนี้การโยกของกายก็จะเบาลงๆ การหายใจก็จะอ่อนลงที่สุด จนบางครั้งสงสัยตนเองว่ามีลมหายใจหรือเปล่า คือลมหายใจละเอียดมาก จนถึงกับตกใจคิดว่าหมดลมหายใจ ถึงตอนนี้ตัวเราเองมัวแต่ค้นคว้าหาลมหายใจว่ามันยังหายใจเข้าหายใจออกอยู่ หรือเปล่าก็มี แต่เมื่อเราหมดห่วงความกังวลในเรื่องลมหายใจแล้ว จิตจะละเอียดที่สุดกายที่โยกอยู่ก็จะหยุดลงเอง เมื่อหยุดแล้วเราจะรู้สึกว่าตัวของเราเหมือนกับลอยอยู่ในอากาศ คือเบามาก จิตก็เบา กายก็เบา แล้วก็คล้ายๆ กับว่าไม่มีฌาน ๔ อยู่คือไม่เกร็งเหมือนเมื่อทำฌานเฉย ๆ มีอาการที่ตัวนี้อ่อนไหวได้ไม่เกร็ง แต่จิตตั้งเอกัคคตา คือจิตตั้งเป็นหนึ่ง หรือเป็นอัปปนาสมาธิอันเป็นสมาธิขั้นสูง

ทีนี้ปัญหาที่เราจะขึ้นไปอเนญชธรรม ซึ่งหมายถึงการขึ้นไปสู่สภาวะจิตที่มีความมั่นคงแน่วแน่ไม่หวั่นไหวด้วย กำลังของสมาธิในฌาน ๔ หรือจตุตถฌาน การปฏิบัติขั้นตอนนี้ไม่มีในตำราไหนที่เขียนไว้เป็นไปตามที่อาจารย์เคย ปฏิบัติมา อาจารย์ได้นำธรรมที่ปฏิบัติได้ผลมานั้นมาสอนพวกเรา ถ้าเราจะขึ้นไปอเนญชธรรม หลังจากที่เจริญมรรค ๘ โดยขึ้นไปข้างหน้า หรือโยกตัวไปข้างหน้าแล้วโยกมาข้างหลัง ก็จะพบว่าโยกกายไปอีกทีหนึ่ง สองทีมันก็หยุดกึกไปต่อไม่ได้ ที่มันหยุดเพราะธรรมมันเป็นอัปปนาสมาธิ คือ มีอุเบกขาฌานเต็มที่ เพราะมรรคองค์ที่ ๘ สัมมาสมาธิท่านว่าให้มีรูปฌาน ๔ อยู่ ทีนี้ถ้าจะเอาให้ละเอียด เราจะขึ้นไปตรงหน้าอีก โดยโยกตัวไปข้างหน้าก็เหมือนกับที่เก่านั่นแหละ เหมือนกับตรงที่ฌานที่ ๔ ขึ้นไปอรูปฌานโน่น หรือถ้าไม่ไปถึงอรูปฌานมันก็จะถอยเข้าไปหยุดอยู่ตรงอุเบกขาเฉยๆ อุเบกขาตรงนี้เท่าที่ได้ฟังครูบาอาจารย์เคยพูดให้ฟังว่าไปอยู่ชั้นสุทธาวาส คือพรหมชั้นที่ ๑๒-๑๓-๑๔-๑๕-๑๖ ใน ๕ ชั้นนั่นแหละ แล้วแต่ว่าอำนาจของฌานจะแก่กล้าขนาดไหน มันขึ้นไปอยู่สุขเวทนาเสียหรือบางทีก็หลงเข้าไปถึงอรูปฌานได้ด้วยถ้า จิตละเอียดมาก โดยเราไม่รู้ ตกลงว่าเราไม่ได้ทำวิปัสสนา

ในที่นี้จะยังไม่สอนอรูปฌาน แต่จะบอกไว้ขั้นต้นสักอย่างหนึ่งว่า ถ้าใครจะเข้าไปในอรูปฌานนั้นจะต้องอัดลมหายใจให้แน่นแล้วพุ่งไปข้างหน้า แล้วก็จะพบนิมิตในที่นั้นเป็นอากาศว่างเหมือนท้องฟ้า สว่างทั่วไปหมด ตรงกับคำที่ว่า อากาสานัญจายตนะ อันเป็นอรูปฌาน ๑ นั่นเอง
ที่นี้ถ้าเข้าไปแล้วลำบากมากคือว่าบางทีออกไม่ถูก ถอยออกมามันออกไม่ได้ติดอยู่ที่ตรงนี้ สภาวธรรมตรงนี้หลวงพ่อจะแสดงไว้เป็นพิเศษ คือจากอุเบกขาฌานขึ้นไปแล้ว ถ้าเรากำหนดไปเข้าอรูปฌานต้องอัดลมหายใจคือกลั้นลมหายใจให้เต็มที่ จิตก็บังคับให้ตั้งมั่นเป็นเอกัคคตาจิต มันก็จะพุ่งพรวดขึ้นไปข้างหน้าแล้วก็จะพบแสงสว่างจ้าทั่วไปหมด เป็นท้องฟ้าเป็นอากาศอย่างนั้น นั่นเป็นอรูปฌานที่ ๑ แล้วถ้าเราขึ้นไปต่ออีกจะขึ้นไปอรูปฌานที่ ๒ ก็อัดลมหายใจเข้าไปอีกนั่นแหละ อรูปฌานที่ ๒ ชื่อว่า วิญญาณัญจายตนะ คือวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อขึ้นไปถึงอรูปฌานที่ ๒ นี่จะมีนิมิตเห็นคล้ายๆ กับดวงดาว หรือแสงหิ่งห้อยระยิบระยับเต็มไปหมด คือเป็นสมมติเหมือนกับว่าดวงวิญญาณมีแสงสว่าง ที่แสดงไว้นี้ก็เพื่อจะได้รู้ ถ้าเผื่อใครหลงขึ้นไป ส่วนอรูปฌานที่ ๓ ก็อัดลมหายใจขึ้นไปอีกนั่นแหละ อัดลมหายใจขึ้นไปอีก เมื่อขึ้นไปถึงอรูปฌานที่ ๓ มีชื่อว่า อากิญจัญญายตนะ คือไม่มีอะไร ว่างนิดหน่อยแคบเข้ามา มีสมมุติให้เห็นเท่านั้นไม่สว่างไม่แจ้งเหมือนเห็นท้องฟ้า มันแจ้งเหมือนกันแต่แจ้งนิดหน่อย ทีนี้ถ้าจะขึ้นอรูปฌานที่ ๔ ก็อัดลมหายใจเข้าไปอีกนั่นแหละ ตอนนี้ละเอียดที่สุด จนกว่ารูปของเรานี้ดับหมดสิ้นไม่มีเหลือ ไม่มีตัวเราแล้ว จึงจะถึงขั้นอรูปฌานที่ ๔ ชื่อ เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือ เข้าหายไปเลย สติก็ไม่มี แล้วก็ถอยกลับออกมาก็มีสัญญาจำได้ แล้วเข้าหายไปดับสัญญาหมด เวทนาต่างๆ ทุกข์ สุข อะไรไม่มีทั้งสิ้น ดับหมด เหมือนกับว่ามันหายไปเสียเลย จะไปอยู่ไหนนั้นรู้ไม่ได้ แต่อย่าขึ้นไปนะ...ขอเตือนไว้ทุกๆ คนอย่าลอง ลองแล้วออกไม่ถูกจะตกใจกลัว

อาจารย์เคยติดแค่อรูปฌานที่ ๓ ไม่ขึ้นไปอรูปฌานที่ ๔ ขึ้นถึงอรูปฌานที่ ๓ แล้วก็รู้สึกว่าเหมือนกับเราเข้าไปในที่ที่ลึกมาก ไกลมาก ไม่มีอะไร มีแต่ความว่าง วังเวงไปหมด รู้สึกหวาดเสียวเยือกเย็น ถ้าเราถอยกลับถอยจากอรูปฌานที่ ๓ มาอรูปฌานที่ ๒ มาได้ ถอยจากอรูปฌานที่ ๒ มาอรูปฌานที่ ๑ คืออากาสานัญจายตนะมาได้ แต่พอจะถอยจากอรูปฌานที่ ๑ มาเข้ารูปฌานที่ ๔ ถอยไม่ได้ ถอยแล้วเหมือนกับหลังติดกำแพง ถอยแล้วมันก็ติดกึก ถอยมันก็ติดกึก ทีนี้เป็นทุกข์ว่านี่เราจะทำอย่างไร? ออกไม่ได้ ก็พอดีนั่งอยู่ประมาณเกือบ ๑๐ นาที ธรรมในธรรมเกิดขึ้นบอกให้ว่า “เราเข้ามาอย่างไรก็ออกไปอย่างนั่นแหละ คือเมื่อเราเข้ามาเราอัดลมหายใจแล้วพุ่งเข้าไป ฉะนั้นเมื่อออกมาเราก็ต้องอัดลมหายใจกระแทกกลับหลัง มันเหมือนกับพุ่งออกมาจากช่องประตูหรือหน้าต่างออกมาถึงรูปฌาน ๔ แล้วก็ถอยเรื่อยออกมาจนถึงรูปฌานที่ ๑ แล้วก็ออก น้ำตาร่วง เสียใจว่าประมาทไปเรียนไม่รู้จริงแล้วเข้าไป นี่คือว่าถ้าขึ้นไปอรูปฌานเป็นเช่นนี้ ฉะนั้นผู้ที่กำลังฝึกหัดอยู่ อย่าเพิ่งขึ้นไปอรูปฌาน อรูปฌานนั้นเกี่ยวกับฤทธิ์อภินิหาร ไม่ใช่ทางหลุดพ้น ผู้ได้อรูปฌาน ๔ อีกเป็นฌาน ๘ เข้าก็ยังไม่หลุดพ้นยังไม่หมดกิเลสเพราะไปติดสุขเวทนา ตายไปก็ไปอยู่พรหมโลก ไม่มีรูปขันธ์มีแต่นามขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่ใช่ทางหลุดพ้น ฉะนั้นทางที่จะไปถึงพระนิพพานคือ...

เมื่อไปถึงสัมมาสมาธิมรรคแล้ว ก็เลี้ยวซ้ายไปอย่างเดียวไม่ต้องถอย คือโยกตัวไปทางซ้ายขวาทำเหมือนตอนขึ้นวิปัสสนา เลี้ยวซ้ายแล้วก็เจริญกรรมฐาน ๕ อันมี เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เจริญกรรมฐาน ๕ ไปพร้อมกับกายโยกไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าทางแล้ว โดยเราว่ากรรมฐาน ๕ สัก ๔-๕ จบที่นี้เราเริ่มทำธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตอนนี้ให้ภาวนาในใจว่า... แค่นแข็งธาตุดิน ชุ่มชื้นธาตุน้ำ อบอุ่นธาตุไฟ เคลื่อนไหวธาตุลม แล้วทีนี้ให้ภาวนาถอยกลับหรือย้อนกลับเพื่อเป็นการรื้อรูปทำลายรูป หรือทำลายธาตุโดยให้ภาวนาว่า ลมดับ ไฟดับ น้ำเน่า ดินพัง เมื่อทำอย่างนี้ เราจะเห็นนิมิตตัวของเรานี้เน่าเปื่อยผุพังไปจนแตกสลายไปหมด มีนิมิตเกิดขึ้นให้เห็นได้ จิตของเราก็จะสลดช่วยให้เราคลายจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเราลงได้

ตอนที่ว่าเที่ยวไป แค่นแข็งธาตุดิน ชุ่มชื้นธาตุน้ำ อบอุ่นธาตุไฟ เคลื่อนไหวธาตุลม ตอนถอยหลังที่ว่า ลมดับ...เรานึกให้เห็นว่าลมในกายของเรา คือนึกว่าลมหายใจดับนั้นเป็นอย่างไร นึกถึงคนตายก็จะเห็นรูปว่า อ้อ...คนตายเป็นอย่างนั้นๆ ไฟดับ...นี่ คนตายเป็นอย่างไร เมื่อไฟดับแล้วร่างกายจะเย็นชืดแข็งทื่อ ทีนี้ตอนนี้เป็นอย่างไร เมื่อไฟดับแล้วร่างกายจะเย็นชืดแข็งทื่อ ทีนี้ตอน น้ำเน่า...เราก็นึกถึงคนที่ตายแล้วมันเน่าเปื่อยผุพัง พองขึ้นมาน้ำเหลืองน้ำหนองเน่าไหลเหม็นฟุ้ง นึกให้เห็น แล้ว ดินพัง...นึก ให้เห็นว่าเนื้อที่หลุดไปหมดจนเหลือแต่โครงกระดูก แล้วโครงกระดูกนี้ก็หลุดเป็นข้อๆ ไป จนกลายเป็นขี้เถ้า ถูกเผาเป็นขี้เถ้า เรานึกให้เห็นภาพเหล่านั้น แล้วภาพเหล่านี้ก็ปรากฏขึ้นมาให้เราเห็นเอง ธรรมทั้งหลายทำให้มีให้เป็นขึ้นแล้วธรรมในธรรมจะเกิดขึ้นมาเอง

ตรงทางไปอเนญชธรรมนี้ ทุกขเวทนามีมากเหลือเกิน ทั้งทุกข์กายทุกข์จิต ที่กายนี้เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส บางครั้งก้นปวดแทบนั่งไม่ติดพื้นเอาทีเดียว แล้วก็ร้อนขึ้นมาทั้งตัวจนเหงื่อตก มันก็อึดอัดไปหมด บางทีก็อ่อนเพลีย ในสมองรู้สึกมึนงงไปหมด เมื่อขึ้นไปๆ เรารู้ว่ากำลังไม่พอก็ให้เราถอยลงมาที่ฌาน ๔ เพื่อพักเอากำลัง เมื่อจิตมีกำลังดีแล้วก็โยกกายตรงขึ้นไปข้างหน้าฌาน ๔ เข้าสู่สัมมาสมาธิมรรค โยกขึ้นไปๆ เดี๋ยวเดียวมันก็หยุดหยุดแล้วก็จะเห็นมัวๆ เรานั่งอยู่ที่นั่นแหละ ทุกขเวทนามันจะดับหมดอยู่ให้นานสักหน่อย แล้วก็ถอยกลับลงมาอีกมาหยุดอยู่ที่ฌาน ๔ เพื่อเอากำลังจากสุทธาวาสหรือพรหมโลกมาสู้ทุกขเวทนา แล้วก็เลี้ยวซ้ายหรือโยกไปทางซ้ายขวาไปที่สัมมาสมาธิมรรค จากนั้นก็เลี้ยวซ้ายเจริญภาวนากรรมฐาน ๕ ต่อ
ทำลายธาตุแล้ว...ทีนี้ทำลายรูป รูปที่เราว่า เกศา โลมา ...นั่นแหละโดยนึกว่าเอาผมออก เอาขนออก เอาเล็บออก เอาฟันออก เอาหนังออก เอาไว้เป็นกองๆ เราคิดเห็นอย่างนั้น เอาผมออกไปไว้กองหนึ่ง นึกให้มันเห็นว่าเอาผมกองอยู่ตรงนั้น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอาออกทีละอย่างๆ จนเอาเนื้อออก เอาเอ็นออก เอากระดูกออก นี่เรียกว่าทำลายรูป แล้วตั้งรูปเอากระดูกตั้งเข้า เอาเอ็นใส่เข้า เอาเนื้อใส่เข้า เอาหนังหุ้มเข้า เอาฟันใส่เข้า เอาเล็บใส่เข้า เอาขนใส่เข้า เอาผมใส่เข้า เป็นรูปตามเดิม นี่เรียกว่าตั้งรูป–ทำลายรูป ตัวนี้เป็นตัววิปัสสนาที่สำคัญมาก เราทำอย่างนี้แล้วก็โยกกายไปๆๆ ถ้าถึงอเนญชธรรม กายที่โยกก็หยุดเองอีกนั่นแหละ

ในระหว่างทางที่ภาวนาอยู่นี้ ถ้าเกิดเห็นทาง ๓ ทางขึ้นมา ให้ตัดสินใจไปในสายกลางอย่าไปทางขวาและอย่าไปทางซ้าย ถ้าไปสองทางนั้นจะหลงทางได้ เมื่อเลือกไปทางกลางบางทีไปพบป่ารกขวางหน้าอยู่หรือทางขาด ก็ไปตรงทางหน้านั้นอย่าหลบ บางทีก็ไปพบตึกขวางหน้าอยู่ก็ทะลุไปทางตึกนั้น ไม่ต้องหลบหลีกไปไหน บางทีก็ไปพบเหวอยู่ข้างหน้าก็ข้ามเหวไปตรงหน้านั้น ไม่ต้องไปกลัวตกเหว มีอะไรต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้าก็ไปให้ตรงไปทางนั้น อย่าเลี้ยว อย่าหลบ นี่เป็นหลักสำคัญ

ตรงนี้มีนิมิตต่างๆ มีความจริงมาก ๙๐% เห็นอะไรแล้วก็เป็นความจริง กายเราโยกไปๆๆ เวลาที่มันจะหยุดมันเหมือนกับว่าเรามุดเข้าไปตามช่องรั้วหรือว่ามันคล้ายทำ ตัวให้เล็กลงคล้ายๆ อย่างนั้น แล้วก็ไปโผล่ขึ้นอีกด้านหนึ่ง มันก็หยุดกึก คล้ายๆ กับว่าเราหนีอะไรมา ลักษณะเป็นเช่นนั้น พอไปถึงที่นั่นแล้วจะหยุดกึก ทีนี้ความสว่างเกิดที่ข้างหน้าจ้าทันที มีสีเขียว สีเหลือง สีขาว สีแดง สีเหล่านี้แหละเรียกว่าฉัพพรรณรังสี แล้วจิตใจรู้สึกสบายเบิกบานที่สุด เอาไปเทียบเคียงกันกับ อุเบกขาสัมโพชฌงค์และอุเบกขาฌาน ๔ แล้ว มันละเอียดผิดกันไปหมด ถึงอเนญชธรรมนี่แล้ววิเศษที่สุด จิตใจไม่เอาอะไรทั้งสิ้นไม่หวั่นไหวอะไรทั้งสิ้น อเนญชธรรมก็แปลว่าธรรมที่ไม่หวั่นไหว อะไรจะมากระทบกระทั่งก็ไม่หวั่นไหวทั้งนั้น มีอุเบกขาเฉยได้อิ่มเอิบใจ เมื่อออกจากฌานแล้วก็ยังรู้สึกอิ่มเอิบใจที่สุด มีสติรุ่งโรจน์ที่สุด กล่าวคือสติลุกโพลงแจ่มจ้า เวลานอนหลับตาก็เห็นแจ้งอยู่เสมอ ลืมตาก็เห็นในห้องนอนแจ้งทั่วไปหมด เวลานอนหลับ ก็เข้าใจว่าตนไม่หลับ เพราะสติมันตื่นอยู่ สติเป็นชาคระ ชาคระก็แปลว่าความลุกโพลงของสติ นี่สติกล้ามาก สตินี้แหละเป็นมหาสติที่จะทำให้เราถึงพระนิพพานได้ เป็นสติที่รุ่งโรจน์

เมื่อถึงอเนญชธรรมแล้วเราก็นั่งอยู่เฉยๆ ซึ่งจะรู้สึกปลอดโปร่งสบายที่สุด มีอุเบกขามั่น ธรรมตรงนี้สมาธิเป็นอัปปนาจิต เป็นอัปปนาสมาธิ ไม่ใช่เป็นอุปจารสมาธิ คือธรรมมันสัมปยุตมาหมด ฌาน ๔ สัมปยุตด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ รวมกันหมดแล้วจึงจะไปถึงอเนญชธรรมนี้ได้ ฉะนั้นเมื่อเดินถึงมรรค ๘ แล้วก็ขึ้นไปอเนญชธรรมได้ทุกคน แต่อย่าขึ้นเล่นๆ อย่าทำส่งๆ ต้องละเอียดลออ และที่บางคนว่าปฏิบัติธรรมแล้วไม่พบอะไร ไม่เห็นอะไร ไม่รู้อะไรนั้น ก็เพราะเหตุว่าเขาไม่มีศรัทธาพอที่จะฝึกฝนตนเองให้ได้สมาธิที่แน่ชัด เมื่อมีสมาธิแน่ชัดแล้วก็มีปัญญาที่จะทำวิปัสสนาให้บรรลุผลได้ดี เรามีศรัทธามั่นคงพอใจในธรรมตามอิทธิบาท ๔ ไม่ใช่เราเข้ามาบวชมาเรียนหรือเข้ามาปฏิบัติธรรม คิดว่าชั่วครู่ชั่วยามเพื่อเล่นๆ อย่าคิดเช่นนั้นเป็นการไร้ประโยชน์

เมื่อถึงอเนญชธรรมนี่แล้ว ยังอีกขั้นเดียวก็จะถึง โคตรภูญาณ คือ สุดโคตรของคนหรือสุดความสิ้นสุดของโลกียะ วิชชาที่จะรู้ของโลกียะก็มีแค่โคตรภู พอออกจากอเนญชธรรมก็โยกกายไปๆ ทำกรรมฐาน ๕ โยกขึ้นไปทางนั้นตรงหน้าไม่ต้องเลี้ยว โยกขึ้นไปตรงหน้า หายใจให้ละเอียดเข้าถ้าธรรมของเราพร้อมคือศีลก็ดีมาก สมาธิก็ดีมากและมีปัญญาก็ดีมาก เต็มเปี่ยมเป็นอริยมรรค ตัวของเราก็จะหยุดเอง แล้วก็จะเห็นนิมิตข้างหน้าเป็นแม่น้ำหรือมหาสมุทรทะเลขวางกั้นอยู่ฝั่ง กระโน้น ที่เขียนรูปนิมิตไว้ในแผนผังว่าเป็นฝั่งของพระนิพพานนั้น คือพระนิพพานสมมุติ ส่วนฝั่งแม่น้ำฝั่งนี้เป็นฝั่งโลกียะ คนเราที่เกิดมาชาตินี้ใครปฏิบัติได้ถึงโคตรภูญาณก็เป็นวิเศษสุด แล้วแปลเป็นภาษาไทยก็คือว่าสุดโคตรคน ถึงที่สุดถ้าเรา ละ กิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ ได้ดีแล้ว


พระอาจารย์สรวง ปริสุทฺโธ วัดถ้ำขวัญเมือง ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๘




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น