วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

อิทธิบาท ๔

เมื่อทำฌาน ๔ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ก็อยากรู้ว่าอาการของฌาน ๔ เป็นอย่างไร เพื่อจะตรวจสอบดูว่าการปฏิบัติของตนถึงฌาน ๔ แล้วหรือยัง ลักษณะของฌาน ๔ นั้น จิตจะตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา อุเบกขา คืออยู่ในอารมณ์ของความสงบระงับจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ไม่ฟุ้ง ในเรื่องใดมีอารมณ์ที่เป็นกลางไม่สุขไม่ทุกข์ไม่ชอบไม่ชัง ไม่ปรุงแต่งต่อสิ่งที่มากระทบ มีสติสมบูรณ์รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสได้ แม้จะ มีเสียงดัง ให้ได้ยินไม่ว่าจะเป็นเสียงใด ก็สักแต่ว่ารู้ในเสียงนั้น โดยไม่เข้าไปปรุงแต่งให้จิตกระเพื่อมไหว หรือหากมีเวทนาเกิดขึ้นกับกาย กับจิตไม่ว่า จะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา โดยไม่ปรุงแต่งเป็นความยินดียินร้ายต่อเวทนานั้น จิตยังคงตั้งมั่นในอุเบกขาคืออารมณ์ที่ เป็นกลางเช่นนี้ จึงจะเข้าเรียกว่าเข้าถึงฌาน ๔

เมื่อเข้าถึงฌาน ๔ อย่างแนบแน่น ก็จะมีอาการทางกายตามมา เช่นชาที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท้ามา อาการชาอาจจะปรากฏบนใบหน้า ริมฝีปาก หรือแม้กระทั่งลิ้น บางคนอาจจะชาที่ใบหน้าก่อน อาการชาจะมารวมที่ปาก จนบางทีปากยื่นออกไป บางครั้งหากไม่ชาก็จะมี อาการ เกร็งแข็งไปทั้งตัวเหมือนถูกตรึงไว้ ขยับเขยื้อนไม่ได้ ต้องคลายจากสมาธิหรือใช้กำลังอย่างแรงจึงจะขยับได้ เหล่านี้ล้วนเป็นอาการ ของฌาน ๔ ทั้งสิ้น

หากผู้ปฏิบัติทำฌาน ๔ ได้สมบูรณ์ดีแล้วจึงจะสมควรขึ้นวิปัสสนา การด่วนทำวิปัสสนาโดยยังไม่ได้ฌาน ๔ นั้น กำลังของ สมาธิ ไม่เพียงพอ แม้ว่าในช่วงทำวิปัสสนาเราไม่ได้ใช้สมาธิระดับฌาน๔ คือระดับอัปนาสมาธิ แต่เราใช้สมาธิระดับกลางคืออุปจารสมาธิ ิหรือ สมาธิในระดับฌาน ๓ แก่ๆ ก็ตามแต่ถ้าพื้นฐานของสมาธิไม่แข็งแรงดีแล้ว ก็ยากที่จะก้าวหน้าไปถึงระดับมรรคผลได้ นอกจากนี้ ยังถูกนิวรณ์ ๕ กวน และต้องเผชิญกับทุกขเวทนาจากการนั่งนาน ๆ จนทนกันแทบไม่ไหว ยิ่งไปกว่านั้นยังถูกโทสะกิเลสและกามราคะ ตีขึ้นมาอย่าง แรงด้วย ดังนั้นการได้สมาธิถึงฌาน ๔ จึงเป็นกำลังสำคัญของการทำวิปัสสนาเพื่อให้ผู้ปฏิบัติผ่านอุปสรรคดังกล่าวได้ และนำไปสู่มรรคผล ได้ง่ายกว่าการไม่ได้ฌาน ๔

ในการทำวิปัสสนานั้นผู้ปฏิบัติที่เข้าถึงฌาน ๔ ก็ต้องถอยสมาธิจากฌาน ๔ ลงมาเล็กน้อย เพราะสมาธิในฌาน ๔ จิตจะนิ่งสงบ อยู่ท่าเดียวไม่ยอมคิดถึงเรื่องอะไร จึงต้องผ่อนสมาธิลงมาให้อยู่ในระหว่างฌาน ๔ กับฌาน ๓ ที่ต้องถอยมาอยู่ระดับนี้แม้ในตำราหรือใน พระปริยัติธรรมจะไม่ได้บัญญัติไว้ แต่จากคำสอนของครูบาอาจารย์และจากการทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง เห็นว่าได้ผลดีจึงถือว่า ใช้ในทางปฏิบัติได้เพราะการปฏิบัติเป็นสิ่งละเอียดอ่อน ผู้มีประสบการณ์แล้วจึงจะรู้ว่าใช้ได้หรือไม่ได้ เมื่อเห็นว่าใช้ได้โดยวัดผลจาก การปฏิบัติก็ถือว่าเป็นหลักในการปฏิบัติได้

การถอยจากสมาธิจากฌาน ๔ ลงมาอยู่ระหว่างฌาน ๓ ครึ่ง ไม่ได้มีเครื่องมือไปวัด แต่กะเอาประมาณเอา เพราะเรื่องของจิต เป็นนามธรรมเอาอะไรไปวัดไม่ได้ เมื่อถอยแล้วก็เลี้ยวไปทางซ้าย คือให้โยกตัวไปทางซ้ายเล็กน้อยจากนั้นด้วยกำลังของสมาธิก็จะทำให้ ตัวโยก กลับไปทางขวาแล้วโยกซ้ายขวาไปมา การที่ต้องโยกตัวไปมาเช่นนี้ก็ไม่มีบอกไว้ในพระปริยัติธรรมหรืออภิธรรมเช่นกัน แต่เป็นผล ที่ได้จาก ประสบการในการปฏิบัติ ซึ่งปฏิบัติแล้วได้ผลดี การที่พระอภิธรรมไม่ได้บัญญัติให้ทำเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความลังเล สงสัยว่า เป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกทางหรือไม่ ปฏิบัติแล้วจะนำไปสู่มรรคผลหรือไม่

เรื่องนี้ก็ขอให้พิเคราะห์ดูว่าในขณะปฏิบัติวิปัสสนานั้น สมาธิของผู้ปฏิบัติจะอยู่ระหว่างฌาน ๒กับฌาน ๔ สมาธิของฌาน ๒ มีปิติหล่อเลี้ยง ซึ่งเราได้ทำอุปเพงคาปีติมาแล้ว จนเกิดกายโยกไปมาหรือเกิดผรณาปีติรู้สึกขนลุกซูซ่า มีอาการซาบซ่านไปตามตัว หรือเกิดโอกกันติกาปีติ สมาธิของฌาน ๒ จะดึงลงมาให้ตัวสั่นตัวโคลง ขณะเดียวกันสมาธิของฌาน ๔ ก็จะดึงขึ้นไปให้อยู่ในอุเบกขา การดึงกันระหว่างกำลังสมาธิในฌาน ๔ และฌาน ๒ บางครั้งก็ทำให้ผู้ปฏิบัติตัวโยกเองโดยไม่ต้องสั่งให้โยกเมื่อทำวิปัสสนา

ผู้ปฏิบัติเป็นจำนวนมากมักจะสงสัยว่าทำวิปัสสนาโดยตัวไม่ต้องโยกได้ หรือไม่นั่งอยู่เฉยๆคอยรู้ในกาย เวทนา จิต ธรรม ได้หรือไม่ รู้แล้วละในสิ่งที่รู้ เท่านี้ก็ทำวิปัสสนาได้ เรื่องนี้ขอให้พิจารณาดูว่าขณะที่เราขึ้นไปถึงฌาน ๔ นั้น กำลังของสมาธิจะมีมาก เมื่อลดลงมา อยู่ระหว่างฌาน ๓ กับฌาน ๔ ถ้านั่งเฉยๆ ไม่ช้าสมาธิก็จะแนบแน่นขึ้น เข้าไปอยู่ในฌาน ๔ อีก จิตก็จะนิ่งอยู่ในอุเบกขา ไม่สนใจในเรื่องอื่นใด เอาแต่จะอยู่ในความสงบท่าเดียว ซึ่งสมาธิเช่นนี้นำมาทำวิปัสสนาไม่ได้ การทำวิปัสสนานั้นสติและจิตจะต้อง คล่องแคล่ว ตื่นตัว ไวต่อ ความรู้สึกที่มากระทบ เหมือนนักเทนนิสที่พร้อมจะวิ่งเข้าไปรับลูกทุกทิศทางที่ฝ่ายตรงข้ามตีมา ด้วยเหตุนี้ การโยกตัวไปมาทางซ้ายขวาจึงช่วยให้สติและจิตตื่นตัวไม่เผลอเข้าไปอยู่ในฌาน ๔ และไม่ตกอยู่ในฌาน ๒ ที่รุนแรง เพราะถ้าตัวโยก ตัวสั่นแรงเกินไปก็ทำให้วิปัสสนาไม่ได้

เมื่อออกจากฌาน ๔ ลงมาอยู่ฌาน ๓ ครึ่ง และโยกตัวไปมาแล้วก็เจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ อันเป็นธรรมที่นำไปสู่มรรคผล นิพพาน โพธิปักขิยธรรม ๓๗ มีดังนี้

๑. สติปัฏฐาน ๔
๒. สัมมัปปธาน ๔ หรือเพียร ๔
๓. อิทธิบาท ๔
๔. พละ ๕ ซึ่งถ้าแก่กล้าเป็นอินทรีย์ ๕
๕.โพชฌงค์ ๗
๖. มรรค ๘
หมายเหตุ สติปัฏฐาน ๔ และสัมมัปปธาน ๔ หรือเพียร ๔ ใช้ตลอดเวลาที่นั่งและไม่นั่งกรรมฐาน

สติปัฏฐาน ๔ คือการมีสติรู้ในฐานทั้ง ๔ อันมี
ฐานกาย ( กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ฐานเวทนา ( เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ฐานจิต ( จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ฐานธรรม (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

โดยรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกาย เวทนา จิต และธรรมนั้น มีธรรมชาติเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ไม่ใช่เป็นของสัตว์ บุคคลตัวตน เรา เขา เป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติมิควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น หากมีปรากฏการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นกับกายกับจิต ก็ให้มีสติ รู้แล้วก็ละเสีย
สัมมัปปธาน ๔ คือความเพียรเพื่อ
๑. ปิดกั้นมิให้อกุศลธรรมที่ยังไม่ไห้เกิดขึ้นในจิต (สังวรปธาน)
๒. ขจัดอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในจิตแล้วให้หมดไป ( ปหานปธาน )
๓. ทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้นในจิต ( ภาวนาปธาน )
๔. รักษาและพัฒนากุศลธรรมที่มีอยู่แล้วในจิตให้เจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้นไป( อนุรักขนาปธาน )

ธรรมหมวดสติปัฏฐาน ๔และสัมมัปปธาน ๔ นี้ ผู้ปฏิบัติเจริญแล้วขณะที่ทำฌาน๔และเมื่อทำวิปัสสนาไม่ต้องเจริญธรรมทั้งสองหมวดนี้ เพราะใช้ตลอดเวลา

สำหรับหมวดธรรมที่เหลือจะเจริญอย่างไร
เมื่อขึ้นวิปัสสนาให้เริ่มเจริญ อิทธิบาท ๔ ขณะที่กายโยกไปมาทางซ้ายขวานั้น ก็ให้ภาวนาอิทธิบาท ๔ ตามไปด้วย คือท่องในใจว่า ฉันทะ : ความพอใจในผลของการปฏิบัติ วิริยะ : ความเพียรในธรรมที่ปฏิบัติอยู่ จิตตะ : ความเอาใจใส่ในธรรมที่ปฏิบัติอยู่ วิมังสา : การใช้จิตตรึกตรองในธรรมที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดละออ ท่องไปช้า ๆ ๔ เที่ยว การท่องนอกจากจะเป็นการภาวนา หรือบริกรรมในธรรมหมวดนี้แล้ว ยังเป็นการตรวจสอบดูว่าธรรมในหมวดนี้เจริญขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง กล่าวคือเมื่อภาวนาไปสัก ๒ เที่ยวแล้วก็สำรวจว่าฉันทะหรือความพอใจ เรามีความพอใจต่อการปฏิบัติหรือไม่วิริยะหรือความเพียร ได้เพียรปฏิบัติมากน้อยเพียงใด จิตตะหรือใจที่จดจ่อ เราจดจ่อต่อการปฏิบัติแค่ไหนวิมังสาหรือใคร่ครวญประมวลผล เราได้ไตร่ตรองใครครวญในธรรมและผลของการปฏิบัติหรือไม่ การตรวจสอบธรรมเหล่านี้ไม่ต้องใช้เวลาตรวจสอบมาก เดี๋ยวจิตจะฟุ้งไปในความคิด

ในขณะที่เราภาวนาอยู่กับองค์ธรรมของอิทธิบาท ๔ คือท่องฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อยู่นั้นสติจะต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แม้จะหลับตาแต่ก็เหมือนกับว่าสายตาของเราทอดไปในระยะปลายนิ้วของแขนที่ เหยียดออกคือคะเนว่าถ้าเหยียดแขนไปตรง ๆ ปลายนิ้วสุดตรงใดก็ให้สายตาของเราพักอยู่ตรงหน้า ณ จุดนั้น ที่ต้องกำหนดจุดพักสายตาไว้ตรงนั้นก็เพราะว่าขณะที่ภาวนาอยู่นั้นอาจจะมี นิมิตเป็นภาพเกิดขึ้นที่ตรงนั้น ภาพนิมิตที่เกิดขี้นอย่าไปนึกอยากให้มันเกิด แต่ถ้ามันเกิดก็ปล่อยให้ให้เกิดตามเหตุปัจจัยของมันและมันจะเป็นภาพอะไรก็ แล้วแต่ขอให้เรามีหน้าที่เพียงรู้ว่ามีสิ่งใด แล้วก็ละเสีย อย่าไปชอบอย่าไปชังเพราะถ้าชอบก็เป็นกิเลสฝ่าย ราคะ (ความรักความใคร่พอใจ) หรือ โลภะ ( ความโลภอยากได้ของเขา ) ถ้าไปชังก็เป็นกิเลสฝ่าย โทสะ ( ความโกรธ ) ถ้าเราไปหลงยึดติดก็จะเป็นกิเลสฝ่าย โมหะ ( ความหลงไม่รู้ ) นอกจากนี้การหลงยึดติดในนิมิต ก็ยังเป็น วิปัสสนูปกิเลส อีกด้วย

นิมิตเกิดขึ้นได้ทางทวารต่าง ๆ เช่น ตาจากการนั่งเห็นรูปหรือแสงสี บางทีก็เห็นเป็นแสงจุดเล็ก ๆแล้วสว่างจ้า บางทีก็เห็นเป็นพระพุทธรูป บางทีก็เห็นเป็นภาพสวรรค์ หรือภาพต่าง ๆ นา ๆ การเห็นนิมิตทางตาแม้จะหลับตาก็ตาม จะเป็นทางนำไปสู่ทิพจักขุ ( ตาทิพย์ ) หรือจักขุญาณ (เห็นด้วยตาใน ) นอกจากนี้ก็อาจจะมีนิมิตทางเสียง โดยหูของเราอาจได้ยินเสียงสวดมนต์แว่วมาทั้ง ๆ ที่ไม่มีวัดหรือมีใครสวดมนต์อยู่แถวนั้น นิมิตที่ปรากฏทางเสียงจะนำไปสู่ ทิพยโสต ( หูภายในได้ยิน)หรือโสตญาณ ที่เรียกว่าหูทิพย์ ซึ่งทั้งหูทิพย์และตาทิพย์นี้ เป็นที่ยอมรับกันในพุทธศาสนาว่ามีจริงเป็นจริงจะปฏิเสธว่าไม่มีไม่ได้ ผู้ปฏิบัติบางคนอาจได้กลิ่นหอมหรือกลิ่นประหลาดเข้ามากระทบจมูกชั่ววูบของลมหายใจ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีต้นเหตุของกลิ่นนันให้สัมผัสนี่ก็เป็นนิมิตทางกลิ่นเหมือนกัน หรือบางคนอาจจะได้นิมิตทางลิ้น คือรู้สึกว่ารสใด รสหนึ่งเกิดขึ้นทั้ง ๆที่ไม่ได้รับประทานอะไรในขณะนั้น หรือบางคนอาจจะได้นิมิตทางโผฏฐัพพะ คือเหมือนกับมีอะไรมาถูกต้องกาย เช่น เหมือนมีตัวไรมาไต่บนใบหน้าทำให้รู้สึกคันยุกยิก แต่พอลืมตาหรือเอามือมาลูบดูกลับไม่เห็นมีอะไร

ไม่ว่านิมิตจะเป็นอะไรเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่าไปหลงไหล อย่าไปยึดติด อย่าไปชอบ อย่าไปชังขอเพียงมีสติ รู้ แล้ว ละ เสีย

ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะเอานิสัยทางโลกเข้ามาปนกับการปฏิบัติทางธรรม นิสัยทางโลกนั้นหากประสบกับสิ่งที่ตนพอใจก็ชอบ อยากพบ อยากเห็น อยากสัมผัส อยากสัมพันธ์ อยากครอบครอง แต่ถ้าพบในสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาก็ชัง ไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ดังนั้นเมื่อเจอนิมิตที่ตนพอใจก็อยากเจออีกหรืออยากให้อยู่นาน ๆ เป็น กามตัณหา เพราะมี ราคะกิเลส แต่ถ้าเป็นนิมิตที่ตนไม่พอใจก็อยากผลักใสไม่อยากให้ดำรงอยู่ เป็น วิภวตัณหา ( ความอยากในสิ่งที่ไม่อยาก) เพราะมี โทสะกิเลส (ความโกรธ) ซึ่งความชอบความชังดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มพูนกิเลสเข้าไปในจิตใจ แทนที่จะเอากิเลสออกจากจิต ดังนั้นจึงต้องมีสติคอยกำกับจิตและมีปัญญาเท่าทัน อย่าไปหลงไหลอย่าไปชอบ อย่าไปชัง เพียงรู้ รู้แล็วก็ ละ ( คือว่าที่ใจ หรือให้ใจว่า ละ นี่คือวิปัสสนา )

ความจริงถ้าเรามีอิทธิบาท ๔ ที่แก่กล้า เราก็จะไม่หลงในนิมิต กล่าวคือ ถ้ามีฉันทะหรือความพอใจต่อการปฏิบัติ รักที่จะปฏิบัติ มีวิริยะพากเพียรต่อการปฏิบัติโดยไม่เกรงกลัวต่อความเหนื่อยยาก มีจิตตะหรือมีใจจดจ่อต่อการปฏิบัติ แม้จะมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับกายกับจิต ก็ระลึกรู้ทันท่วงทีด้วยการมีสติคอยกำกับเช่น รู้ว่ามีนิมิตเกิดขึ้นแล้วและมีวิมังสา คือใคร่ครวญไตร่ตรองในธรรมหรือในนิมิตที่เกิดขึ้นว่าเป็นของไม่เที่ยง ผ่านมาก็ผ่านไป ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบที่ชัง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ ละ หรือ ปล่อยวาง ในนิมิตได้ หากทำได้เช่นนี้ตัววิมังสาก็จะเป็นตัวปัญญา

นอกจากนิมิตแล้วขณะที่เราภาวนอิทธิบาท ๔ คือท่องคำว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อาจจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งนอกเหนือไปจากนิมิตเกิดขึ้นกับกายกับจิตของเรา เช่น รู้สึก ปวด เมื่อย คัน ตัวหนัก ตัวเบา ตัวร้อน ตัวเย็น หรือมีอารมณ์จรไปเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ให้รู้แล้วละเสีย ตัวรู้คือสติ ตัวละตัวปัญญา (สติ : ระลึกได้มีปัญญารู้ติดตามมา )

การเจริญอิทธิบาท ๔ จะเพิ่มพลังของสติและปัญญา อิทธิบาท ๔ หมายถึงการเดินไปด้วยฤทธิ์หรือก้าวไปด้วยฤทธิ์ แต่จะมีฤทธิ์ใดนั้นก็จะต้องมีกำลังหรือพละควบคู่กันไปด้วย เพราะถ้ามีฤทธิ์แต่ไม่มีกำลัง ฤทธิ์นั้นก็จะไปไม่รอด หรือมีกำลังแต่ไม่มีฤทธิ์ กำลังนั้นก็ไปได้ไม่ไกลเช่นกัน ดังนั้นธรรมะทั้งสองหมวดนี้จึงเกื้อกูลกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อเราเจริญอิทธิบาท ๔ แล้ว เราต้องเจริญพละ ๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น