วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

โพชฌงค์ ๗

วัน ก่อนได้สอนธรรมวิธีปฏิบัติขึ้นถึง พละ ๕ ไว้สำหรับผู้ที่ถึงพละ ๕ วันนี้จะแสดงธรรมแนวปฏิบัติตามแผนผังที่วางไว้ขอให้ทำความคิดความเห็นตามไป เพราะธรรมขั้นโพชฌงค์นี้เป็นธรรมที่ละเอียดมาก ถ้าทำถูกต้องสามารถทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงพระนิพพานได้ เพราะธรรมในโพชฌงค์นี้มี สติ อยู่หน้า องค์ประกอบของธรรมแห่งสัมโพชฌงค์มีอยู่ ๗ ได้แก่...

สติ คือ ความระลึกได้
ธัมมวิจยะ
คือ ความสอดส่องในธรรม หรือ ความกลั่นกรองในธรรม
วิริยะ คือ ความเพียรหรือเพียร ๔ ที่เราเพียรภาวนานั่นแหละ
ปีติ คือ ความอิ่มเอิบกายใจ อาจมีอาการขนลุกขนพอง กายสั่น
ปัสสัทธิ คือ ความข่มกายข่มจิตไว้ให้สงบ
สมาธิ คือ ความมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง
อุเบกขา คือ ความวางเฉย ไม่ปรุงแต่งต่อผัสสะ ถ้าถึงดี กายจะหยุดจากโยกสว่างจ้าสบายมาก

ในการขึ้นโพชฌงค์ ๗ ก็คงขึ้นเหมือนอิทธิบาท ๔ พละ ๕ คือโยกตัวไปมาซ้ายขวาแล้วบริกรรมองค์ธรรมไปช้า ๆ เที่ยวเดียว เริ่มจากสติไปจนถึงอุเบกขา เมื่อภาวนาองค์ธรรมใดก็ให้ตรวจสอบดูว่าองค์ธรรมนั้นมีขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง บกพร่องหรือบริบูรณ์ ถ้ายังไม่มีก็ทำให้มี ถ้าบกพร่องก็แก้ไขเราต้องภาวนาด้วยความสุขุม ละเอียด เพราะเป็นองค์ธรรมที่มีความสำคัญมาก

สติ : ตัวสติสัมโพชฌงค์ จะเป็นสติที่มีกำลังยิ่งกว่าสติใน พละ ๕ และอินทรีย์ ๕ เพระเป็นสติที่เข้มแข็งแคล่วคล่องว่องไว เป็นทัพหน้าที่จะต้องป้องกันมิให้ข้าศึกศัตรูอันได้แก่กิเลสเข้ามาย่ำยีจิต ใจของเราได้ดังนั้นผัสสะทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับกายกับจิต สติจะรู้ทันเมื่อมีการกระทบ และคอยอุปการะจิตให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว คือไม่ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบ ที่ชัง แต่ให้รู้แล้วละเสีย กิเลสก็จะเข้ามาย่ำยีจิตไม่ได้

ธัมมวิจยะ : คือความสอดส่องในธรรม อะไรเกิดขึ้นก็รู้ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ให้เราทำการ ละ ทันที โดยวิปัสสนานั่นแหละ สิ่งใด ละ ยังไม่ดับก็ใหับังสุกุลเสียโดยว่าอนิจจา วะตะสังขารา ทำไปอย่างนั้น เมื่อเรามีสติเข้มแข็งดีแล้ว ปัญญาก็มี เพราะปัญญาอยู่คู่กับสติ นี่ให้เราเข้าใจให้ถูกต้อง เมื่อสติเราแก่กล้าพอดีแล้ว เรารู้ก่อนคือรู้ล่วงหน้าสิ่งที่จะเกิดซึ่งมันเกิดขึ้นจริง ๆ การที่สติระลึกรู้อะไรได้ก่อนนั้นปัญญามันก็รู้ตามติดมาว่าเป็นอะไร คือ สิ่งที่เห็นนั้นเป็นรูปอะไรหมายความว่าอย่างไร ตัวรู้ ทันที นั้นเป็นตัวปัญญา…ธัมมวิจยะเป็นองค์ธรรมที่ช่วยให้เราสอดส่องในธรรมที่เกิดขึ้นกับกายกับจิต ซึ่งจะมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลากับกายกับจิตของเรา เช่น มีสิ่งมาสัมผัสกายบ้าง สัมผัสจิตบ้าง หรือบางทีก็มีความรู้สึกเกิดขึ้นกับกาย เช่น บางทีปวด บางทีคัน บางทีเมื่อยและบางทีร้อน อาการต่าง ๆ เหล่านี้เรารู้แล้วก็ละทั้งสิ้น

วิริยะ : คือความเพียร เราเพียรปฏิบัติโดยโยกกายอยู่เรื่อย ส่วนจิตนั้นก็นึกคิดอะไรมีอารมณ์อย่างไร รู้แล้วก็ละเสีย เพื่อให้มีสัมปชัญญะและทำให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน เพราะมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ เราก็รู้ว่าเรากำลังนั่งภาวนาอยู่มีความพากเพียรอยู่ แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพียงใดก็อดทนไม่ท้อถอย.

ปีติ : พอขึ้นตัวปีติแล้ว มันจะรู้สึกวูบขึ้นมา นั่นปีติโสมนัสโพชฌงค์เริ่มจับแล้วเริ่มวูบ ๆ หรือซาบซ่านขึ้นมาตามผิวกาย หรือบนศรีษะ หรือบางทีก็มีตัวคล้าย ๆ กับผึ้งหรือตัวอะไรโตเท่าขนาดนิ้วก้อยมันวนอยู่รอบ ๆ บนหัวของเรา แล้วมันก็ลงมาเจาะที่บนกระหม่อมเรา หรือบางทีก็จะไต่เข้าไปในรูหูและบางทีก็มีตัวอื่น ๆ คล้ายแมงมุมก้าวยาว ๆ ไปตามใบหน้าของเรา ก้าวไปบนหัว นี่เป็นเรื่องของปีติทั้งนั้น มาก่อกวนและไอ้ตัวที่สำคัญคือที่คล้าย ๆ ตัวไรมันไต่จะเข้าจมูกเรา เข้าที่ขอบตา หรือเข้าในรูหูเรา บางครั้งเรา " ละ " มันแล้วแต่มันก็ยังจับมาก ๆ เข้าที่ริมฝีปากบนข้างรูจมูก ถึงเรา " ละ " บังสุกุลแล้วก็เหมือนกับเป็นก้อนตกลงมา ครั้นเราเผลอสติไปลืมตาดูก็ไม่พบอะไร นี่เป็นเรื่องของธรรมดาทั้งสิ้น มันเข้ามาทดสอบเพื่อจะทำให้เรารำคาญ เมื่อเรารำคาญแล้ว เราก็โกรธ เมื่อเราโกรธก็เป็นอันว่าเสียสมาธิหมดเป็นกิเลส รัก โกรธ เกลียด กลัว พอไปถึงตัว " ปีติ"อันนี้แหละมันทำเรื่องถ้าปล่อยไว้ให้" ปีติ"ซาบซ่านขึ้นมากแล้ว เดี๋ยวอุพเพงคาปีติกายสั่น กายคลอนก็เกิดขึ้นสั่นโครม ๆ กระโดดโลดเต้นเหมือนฌาน ๒ นั่นแหละ ซึ่งจะทำให้จิตหยาบจิตไม่ละเอียดเพราะฌานที่ ๒ นี้เป็นฤทธิ์ เราต้องปัสสัทธิ คือทำจิตให้สงบ ให้ปีติมันลง

ปัสสัทธิ : คือความสงบระงับด้วยการข่มไว้ กายนั้นให้โยกอยู่ แต่ปีติปัสสัทธิให้ลง สำหรับตรงนี้อาจารย์หลงอยู่ตั้ง ๕-๖ คืน คืนหนึ่ง ๕-๖ รอบ คือพอถึงปีติแล้วมันก็ขึ้นโครม ๆ ๆ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ถามครูอาจารย์ท่านบอกว่าเมื่อจะถึงพระนิพพาน แล้วปีติใหญ่มันจะเกิดขึ้นเหมือนกับฌาน๒ นั่นแหละ แล้วทำไมเมื่อเกิดขึ้นแล้วเราไม่ถึงพระนิพพาน สักที เกิดโครม ๆ แล้วเดี๋ยวมันก็ผ่อนลงจนเหลือแต่ปลายนิ้วมือ และปลายนิ้วเท้าเท่านั้นที่ยังสั่นอยู่ เดี๋ยวก็เกิดขึ้นอีก วนเวียนอยู่อย่างนั้นเท่านั้นแล้วมันก็กลับมาตั้งต้นใหม่อีก กลับมาตั้งต้นที่สติโดยที่เราไม่รู้ ธรรมมันกลับมาเอง เพราะมันไปไม่รอดไปติดอยู่ตัวที่ ๔ คือที่ตัว " ปีติ" นี่ให้พึงระวังถ้าปฏิบัติไปแล้วเจอเข้าอย่างนั้นแล้วให้ระวังแล้วธรรมตรงนี้ จะมีนิมิตเกิดขึ้นมาก อย่างอาจารย์นี้มีนิมิตมาก่อนเห็นนิมิตเลข ๗ เห็นเป็นตัวเลขอารบิก เป็นตัวสีทองจึงได้รู้ว่าอ้อ…นี่มันโพชฌงค์ ๗ แน่เพราะจำได้ว่าโพชฌงค์ ๗ แต่ก็จำบัญญัติไม่ได้ว่ามีชื่ออะไรบ้างในตอนนั้น เมื่ออกจากกรรมฐานแล้วจึงมาเปิดดูที่ธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๑ พออ่านดูก็รู้ว่าอ้อ…มี สติ ธัมมะวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา พออ่านจบเราก็รู้ทันทีว่าเราบกพร่อง ตัว ธัมมวิจยะ คือความสอดสิ่งในธรรมไม่เพียงพอ คือสอดส่องว่าที่มันเกิดขึ้นนี้มันมันเป็นอะไรอย่างนี้ คือปีติ มันเป็นปีติอะไร ปีติในโพชฌงค์นี้จะต้องเป็นเพียง ผรณาปีติ คือรู้สึกซาบซ่านขนลุกซู่ ๆ หรือรู้สึกวูบ ๆ ขึ้นมาตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไปถึงศรีษะและเราปัสสัทธิ มันก็ลงเท่านั้นเอง ถ้าปล่อยให้เกิดเป็นอุปเพงคาปีติขึ้นโครม ๆ เหมือนฌาน ๒ นั้นแล้วก็จะปัสสัทธิไม่ลง นอกจากจะออกฌานเท่านั้นเอง เมื่อปัสสัทธิไม่ลงจิตมันก็หยาบ เมือ่จิตหยาบแล้วตกลงว่าที่จะไปลงอุเบกขาสัมโพชฌงค์มันก็ลงไม่ได้ เพราะจิตมันเป็นสมาธิที่ตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิอย่างแก่ไม่ได้ แล้วนิมิตที่ตรงนี้บางทีก็เห็นเป็นบันได ๗ ขั้น แต่เวลาลงเราไม่ลงตามขั้นบันได กลับไปลงทางราวบันไดเสีย ก็มีนิมิตที่เห็นพระรูปหนึ่งท่านเดินลงมาตามขั้นบันไดให้เห็น เราก็รู้ทันทีว่า อ้อ…ท่านสอนเราให้ลงตามขั้นบันได คือขึ้นตามขั้นของมันด้วยบริกรรมภาวนา แล้วเวลาเมื่อเราจะลงก็ถอยลงลงมาตามขั้นของมัน เป็นอย่างนี้แล้วก็มีนิมิตอื่น ๆ อีก ตรงที่โพชฌงค์นี้

สมาธิ : คือการมีจิตตั้งมั่นซึ่งเมื่อเราปัสสัทธิลงได้แล้ว เราพยายามหายใจให้อ่อนลงให้มาก เมื่อผ่อนลมหายใจกายก็โยกอยู่มันก็จะโยกน้อยลงเรื่อย ๆ ตอนแรกนั้นโยกค่อนข้างหยาบแล้วมันก็จะโยกเบาลง ๆ พอถึงตัวสมาธิ อันนี้แหละจิตเกือบแนบ มีลักษณะคล้าย ๆ กับฌานที่ ๔ นั่นแหละเป็นอุปจารสมาธิอย่างแก่ จิตจะรู้สึกแนบแล้วเราจะรู้สึกว่าศรีษะนี้เย็นเหมือนกับว่าเอาน้ำแข็งมาตั้งไว้ สำคัญมาก จิตใจเยือกเย็น พอสมาธิแนบแน่นเต็มที่แล้ว ก็ลงอุเบกขา

อุเบกขา : เมื่อปฏิบัติ มาถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น กายที่โยกอยู่ก็จะหยุดกึก พอหยุดนิ่งแล้วก็จะเกิดมีความสว่างขึ้นข้างหน้า จ้า มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน สีขาวคล้าย ๆ อย่างนั้นที่เรียกว่า ฉัพพรรณรังสี แจ้ง จ้า แล้วกายนั้นหยุดนิ่ง ถึงเราจะโยกอีกแต่โยกได้ทีเดียวแล้วมันก็หยุด เพราะถึงที่แล้วถึงสถานีแล้ว กายนี้เหมือนกับว่าลอยขึ้นไปบนอากาศ แล้วรู้สึกว่ามีความสุขมากกว่าตรงอุเบกขาฌานที่ ๔ เพราะตอนนี้ธรรมสัมปยุตมาแล้วด้วยอิทธิบาท ๔ พละ ๕ เมื่อพละ๕ แก่กล้ากลายเป็นอินทรีย์ ๕ ธรรมจะสัมปยุตกันไปเรื่อยคือรวมใหญ่ เพราะศีล,สมาธิ,ปัญญา พร้อม เราขึ้นโพชฌงค์ถ้าสัมปยุตลงดีแล้ว มันก็หยุดกึก แนบแน่น สว่างจ้า ไม่มีอะไร หมดสิ้นทั้งรูปทั้งเสียง กลิ่น รส ต่าง ๆ ไม่มี จะรู้สึกว่าสบายที่สุด นี่เป็นหลักธรรม ส่วนนิมิตต่าง ๆ ในขั้นธรรมโพชฌงค์นี้มีมากกว่านี้แต่ที่แสดงให้ฟังเพียงย่อ ๆ เพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น

ที่สำคัญที่สุดที่ธรรมโพชฌงค์ คือเมื่อถึงตรงที่สมาธิหรือใกล้จะถึงตัวสมาธิ เราสามารถดับขันธ์ ๕ ได้คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดับไป โดยขณะที่เราโยกกายอยู่น้อย ๆ นั้นเราหลับตาดูอยู่เราจะเห็นรูปของเรากายของเรานี้นั่งขัดสมาธิอยู่ แล้วรูปกายของเรานี้ค่อย ๆ จางลง จางลงจนที่สุดแล้วจะใสเหมือนกับกระดาษพลาสติกหรือกระดาษแก้ว แล้วหายวับไปเราดูเท่าไร ๆ รูปของเราก็ไม่มี รูปไม่มีนี่เรียกว่ารูปดับ

พอรูปดับ เราก็เริ่มสังเกตเวทนา คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา มีไหม หมายถึงว่ามันดับไปด้วย ทีนี้เราตรวจดูสัญญาหรือความจำ ดูว่าสัญญาต่าง ๆ ที่เราจำอะไรไว้ได้บ้าง เช่น นโม ตัสสะ…นี้เราก็จำได้ทุกคนเราจะนึกว่า ออกมามันก็นึกไม่ออก จะเอาเรื่องอไรมันนึกไม่ออก รู้สึกว่าจิตมันแนบจนนึกอะไรไม่ออก เราก็รู้ได้ทันทีว่านี่สัญญาดับ

ทีนี้ตัวสังขารคือความนึกคิดต่าง ๆ ทีจะคิดปรุงแต่งเรื่องอะไรมันก็ไม่มี…รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันดับไปหมดสิ้น สังขารมันก็เกิดขึ้นมา ปรุงแต่งไม่ได้

แล้ววิญญาณคือตัวรับรู้ซึ่งปกติเมื่อมีผัสสะหรือมีอะไรมากระทบก็รับรู้ เช่น ตาเห็นรูปก็รู้ว่าเห็นรูปหูได้ยินเสียงก็รู้ว่าได้ยินเสียง แต่เมื่อตัวรูปดับประสาทสัมผัสต่าง ๆ ก็ดับไปด้วย ดังนั้นตัววิญญาณที่จะทำหน้าที่รับรู้สิ่งที่มากระทบจากปากประสาทสัมผัสก็พลอยดับไปด้วย

เมื่อขันธ์๕ ดับแล้วขณะที่เราอยู่ในสมาธิสัมโพชฌงค์ก็ให้เรานั่งอยู่เฉย ๆ เท่านั้น นั่งเฉย ๆ นิ่ง ๆ ไม่น้อมจิตไปข้างหน้าหรือข้างหลังทั้งสิ้น ตามตำราเกือบทุกเล่มนั้นสอนไว้ว่า เมื่อดับขันธ์๕ได้แล้วให้ น้อมจิตไปสู่พระนิพพาน การน้อมจิตเข้าสู่พระนิพพาน นั่นแหละคือตัวกิเลส เพราะตัว น้อม นั้นคือตัว ภวตัณหา คือ อยากมี อยากเป็น อยากพบ อยากเห็น อยากรู้ อยากได้ เมื่อมีตัณหาคือความอยากมันก็มีกิเลส ฉะนั้น อย่านึกน้อมจิตเป็นอันขาด อย่าน้อมไปข้างหน้าและอย่านึกไปข้างหลัง การคิดไปข้างหน้านั้นเป็นอนาคตเป็นเป็น สังขาร คือคิดปรุงแต่งในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนการไปข้างหลังนั้นเป็นอดีตเป็น สัญญา คือจำในเรื่องที่ผ่านมาแล้วดังนั้นจึงต้องไม่ให้นึกคิดทั้งเรื่องในอนาคตและเรื่องในอดีต นั่งอยู่เฉย ๆ อย่างนั้นแหละ แล้วจะเกิดธรรมสัมปยุตขึ้นมาเองจึงจะเป็นทางไปถึงพระนิพพานได้.

ธรรมสัมปยุตนี้ยังจะไม่สอนเพียงแต่จะกล่าวให้ฟังย่อ ๆ เมื่ออาจารย์ปฏิบัติอยู่ตรงโพชฌงค์นี้คืนหนึ่งนั่ง ๕ รอบ ได้ทั้ง ๕ รอบ ตั้ง ๗ คืน อยู่กับโพชฌงค์ก็ไม่รู้จะไปอย่างไร อาจารย์ท่านก็สอนให้น้อมจิตเขาสู่พระนิพพาน เราก็น้อม พอน้อมแล้วมันก็หงายไปข้างหลังทุกที เหมือนกับว่าหัวไผฟาดพื้น มันหงายไปคล้าย ๆ กับถูกถีบออกมานั่นแหละเป็นเพราะเรามันอยากเข้าพระนิพพานก็เลยถูกถีบออกมานั่นแหละ ถ้าเราจะเข้าได้ก็เข้าได้เอง ไม่ต้องไปน้อมอะไรมัน เพราะการน้อมนั้นเป็นตัณหา ให้เข้าใจอย่างนี้

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นธรรมโพชฌงค์ได้แล้วก็จงขึ้นไป อย่ามัวเล่นอยู่ที่พละ ๕ เพราะเวลามันฟุ้งซ่านขึ้นมาแล้วจะเอาไม่อยู่ เพราะขาดธัมมวิจยะ คือขาดปัญญานั่นเองธัมมวิจยะนั่นเป็นตัวปัญญา จำไว้ แล้วฌาณ ๒ ของเราเข้าไม่แข็งเมื่อถึงธรรมโพชฌงค์แล้วจะหนักมาก มันหนักมากเหลือเกินเวลาเราออกจากสมาธิแล้วจะรู้สึกว่ามึนงงไปหมด บางทีก็ง่วงเหงาหาวนอน เพลียต้อวงนอนเลย ให้รู้ไว้เถอะว่านั่นเป็นเพราะว่ากำลังยังไม่พอ คือพละ ๕ ยังไม่พอ และฌานยังไม่พอ ฉะนั้นเราจะต้องปรับปรุงสมาธิเรื่องอุเบกขาฌานเสียให้ดี ปรับปรุงขณะที่อยู่โพชฌงค์นี่แหละ โดยโยกกายให้น้อยลง หายใจให้อ่อนให้เบาผ่อนลมหายใจให้อ่อนแล้ว " ละ " ตัวอารมณ์ที่นึกคิดต่าง รูปต่าง ๆ " ละ " ให้หมด อะไรเกิดขึ้น " ละ " ให้หมด อะไรเกิดขึ้นก็ " ละ " ละทุกอย่างนั่นแหละจงจำไว้

ธรรมต้องปฏิบัติไปตามขั้นของธรรม เช่น ผู้ที่ได้ฌาน ๔ แล้วจะขึ้นไปทีเดียวตั้งแต่อิทธิบาท ๔ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ จนถึงอเนนชธรรม ก็ได้ แต่อาจจะขึ้นได้สัก ๑-๒ ครั้งแล้วภายหลังก็ขึ้นไม่ได้ เพราะกิเลสมันมากนักข้างบนนั่น ละเอียดด้วย มันตีถอยหลังหมดเราก็ไม่เคยรู้เคยพบศิษย์บางคนที่ทะนงตัว ขึ้นไปได้ถึงอเนนชธรรมแล้วเข้าใจว่าเก่ง ไม่ทำฌานให้ดีเลยถอยตกลงมาจนกระทั่งฌาน ๔ ก็เข้าไม่ได้ นี่เป็นอย่างนี้ เพราะประมาทในเรื่องการทำฌาน ให้รู้ว่าฌาน ๔ นี่เป็นบาทวิถีหรือทางที่เราจะก้าวเดินขึ้นไป ถ้าไม่มีฌานแล้วเราจะสู้กับทุกขเวทนาไม่ได้เลย ทุกขเวทนาอย่างร้ายแรงที่ตรงนี้แหละ ตรงโพชฌงค์นี่แหละ

ที่อิทธิบาท ๔ และโพชฌงค์นี้ อาจารย์เคยพบ๒ ครั้ง ทุกขเวทนาแรงมากถูกมดขี้หมาขึ้นมากัดครั้งแรกสู้ได้ ๔๕ นาที ทนไม่ไหว มันกัดทั่วไปหมดทั้งร่างกาย อีกคืนหนึ่งย้ายที่นั่งไปนั่งอีกที่หนึ่ง แล้วก็เอาจีวรห่มคลุมทั้งหมด ทั้งที่นั่งและที่รองนั่งด้วย เอาเหน็บไว้แน่นหมด ไม่ให้อะไรเข้ามาได้ พอนั่งได้ราวประมาณ ๑๐ นาที ก็รู้สึกว่าทีเวทนาเกิดขึ้นที่สีข้าง มันเหมือนมีตัวอะไรมากัด เหมือนมดกัดไม่เอา ละมันไปหรือดับมันไป ดับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง คอยรักษาจิตให้เพ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว ให้จิตตั้งมั่นอย่างเดียวจน รู้สึกว่ามันขึ้นมาที่สีข้างซ้ายและข้างขวาที่คอ ที่ต้นคอ แต่ข้างล่างไม่ลงไป ขึ้นตั้งแต่บั้นเอวขึ้นไป ขึ้นไปจนถึงหู จนถึงบนหัว ทีนี้การปฏิบัติของอาจารย์กำลังเคร่งครัด ไม่ท้อถอย ไม่ยอมถอย สู้ตั้งแต่สองทุ่มจนเที่ยงคืนกว่ารวดเดียว ๔ ชั่วโมงกว่าก็รู้ทันทีว่าระหว่างทุกขเวทนานี้ ถ้าเราขาดสติควบคุมจิตให้ดีก็จะแพ้มัน แต่ถ้ามีสติคุมจิตให้ตั้งมั่นได้แล้วจะเหมือนกับเส้นด้ายขึงตึงอยู่ข้างหน้า รู้ว่าจิตแยกออกจากกายได้เด็ดขาดและเมื่อพ้นไฟก็คิดว่าจะออกไปถามอาจารย์สัก ทีหนึ่งว่าทำอย่างไรทุกขเวทนามันถึงจะดับได้หนา คือคิดว่าเป็นเวทนาที่มันเกิดขึ้นมาจากภายในไม่ได้รู้ว่าเป็นเวทนาภายนอก การที่มดกัดเรานี้เป็นเวทนาภายนอก แต่ถ้าเกิดปวดเมื่อยขึ้นมาข้างในนั้นเป็นเวทนาภายใน

เวทนานอก - เวทนาใน จิตนอก -จิตใน เป็นสิ่งที่ต้องรู้ จิตนอกคือวิญญาณหรือตัวรู้อันเกิดจากสิ่งที่มากระทบทางประสาทสัมผัสนั่นเอง จิตในคือจิตแท้เป็นตัวรู้ที่เกิดจากภายใน สัมผัสนอก - สัมผัสใน สัมผัสนอกคือเสียงต่าง ๆ ที่มาจากภายนอก หรือรูปต่าง ๆที่มาจากภายนอกที่ตาเนื้อเรามองเห็นอยู่นี่เรียกว่าสัมผัสนอก สัมผัสในคือเมื่อเรานั่งหลับตาแล้วเกิดนิมิตขึ้นภายใน คือตาเราเห็นรูป จมูกได้กลิ่น นั่นเป็นสัมผัสใน และก็ให้รู้ถึงกลิ่นที่มาถ้าเผื่อว่ามีคนถือดอกไม้ผ่านมาจริง ๆ นั่นก็เป็นสัมผัสนอก แต่ชนิดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ แล้วเราได้กลิ่นหอมขึ้นมาเอง นั่นเป็นสัมผัสใน นี่ให้รู้เวทนานอกเวทนาใน,จิตนอก, จิตใน แล้วกายนอก-กายใน กายนอกก็คือรูปของเรานี่แหละ นี่เป็นกายนอก ทีนี้เรานั่งหลับตาแล้วเห็นตั้เราเองออกไปนั่งอยู่ข้างหน้าหรือเดินไปก็ตาม นั่นเป็นกายในกายแล้ว

พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ให้เรามองเข้าข้างใน ให้เห็นกายในกายอยูเนืองๆ ทีนี้ถ้าใครเห็นตัวเราเองออกไปข้างนอก ไปนั่งอยู่ข้างหน้าบ้างหรือเดินไปบ้าง นั่นแหละเป็นกายในกายของเรา ให้เห็นอย่างนี้ให้เห็นกายในกายอยู่บ่อย ๆ เห็นเป็นปกติ บางครั้งก็เห็นกายนี้เน่า เปื่อย พังลงไปหมดเหลือแต่โครงกระดูกจนกระทั่งกระดูกนั้นก็ละลายกลายเป็นขี้เถ้า ถ้าถึงตรงนี้แล้วเป็นธรรมสัมปยุตได้เลย

อย่ากลัวเป็นอันขาดที่ตัวเราเห็นว่าตัวเองเน่าเปื่อยผุพังเพราะรู้ แล้วว่าทุกคนก็ต้องตายนั่นเป็นธรรมแสดงความตายให้เห็นว่าต้องเปื่อยต้องพัง ไป ทีนี้บางคนพอเห็นอย่างนั้นก็กลัวเสียแล้ว บอกว่าเป็นผีหลอกแล้วผีของเราเอง ตัวเราเองต้องกลัวด้วยหรือ อย่าหลง ถึงผีใดๆ ก็ตามขึ้นมายืนตรงหน้าเห็นเน่าเปื่อยผุพัง ก็ให้น้อมนึกว่าเราเองก็ต้องเป็นเช่นนั้น น้อมเข้ามาหาตัวเราว่าตัวเราก็เน่าเปื่อยพังไปเหมือนกัน ถ้าทำได้อย่างนี้ รูปมันก็ดับ ถ้ามันไม่ดับเราก็ " ละ " แล้วบังสุกุลเสีย มันก็ดับเอง นี่เป็นหลักสำคัญมาก

เมื่อขึ้นโพชฌงค์ได้ดี ลงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ได้ทุกครั้ง โดยกายจะหยุดนิ่งตรงนี้ ถ้ากายังโยกอยู่มันไม่ลง แสดงว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเรายังไม่สมบูรณ์ จำไว้ว่ากายมันหยุดของมันเอง จากนั้นเราก็ขึ้นมรรคได้เลย เมื่อขึ้นโพชฌงค์ได้ดีแล้ว พอเราขึ้นมรรค เราก็กระตุกกายขึ้นขึ้นไปโยกซ้ายขวาแล้วบริกรรมสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป … เหมือนกัน วันนี้จบเพียงธรรมสัมโพชฌงค์ไว้เพียงเท่านี้

ขอเตือนทุก ๆคนอย่าหวั่นไหวต่อความเป็นไปที่เราเห็น เรารู้ เราได้ยิน ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้นอะไร ๆ เกิดขึ้นก็ละแล้วบังสุกุล นี่เป็นตัววิปัสสนา ถ้าละแล้วบังสุกุลยังไม่ดับ ก็ให้สวด อิติปิ โส ภควา ว่าหลาย ๆ จบ นี่เป็นวิธีแก้ อย่าลืมตาออกไป อย่าหนี อย่าหนีธรรม ให้สู้ธรรม ถ้าใครสู้ธรรมได้แล้วก็ชนะจะข้ามฝั่งได้ บางคนเห็นตัวเองเน่าพังก็กลัวผี กลัวผีตัวเอง ออกจากสมาธิเลย ไม่ต้องกลัวให้ปฏิบัติไปนั่นเป็นการถูกต้องแล้วที่เป็นเช่นนั้น ธรรมสัมปยุตแล้ว มันจะรวมแล้ว การที่จะเข้าไปให้ถึงพระนิพพานได้นั้นขันธ์ ๕ จะต้องดับการเข้าพระนิพพานดิบ ๆ คือยังมีขันธ์ ๕ อยู่ด้วยนั้นไม่มี พระพุทธองค์ไม่ได้สอนฉะนั้นบางคนที่ปฏิบัติธรรมทางวิปัสสนาที่เคยได้ยินว่า ตนเองนั้นได้ธรรมพระโสดาแล้วนั้น พระโสดาดิบ โสดาที่ธรรมไม่สัมปยุต โสดาที่ขันธ์ ๕ ไม่ดับ

ขันธ์ ๕ ดับได้แล้วและละสังโยชน์ ๑๐ ได้แล้ว ก็เข้าถึงพระนิพพาน โดยที่เรายังมีชีวิตอยู่ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้เป็นพุทธศาสนาสุภาษิตว่า นิ??พพานํ ปรมํ สุขํ คือนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ใครเข้าถึงพระนิพพานแล้วก็มีแต่ความสุขสงบอย่างเดียว เมื่อออกมาแล้วเราก็ยังครอง สังขาร ๓(๑) นี้ หรือวิบากนี้หรือขันธ์ ๕ นี้อยู่ เป็น วิสังขาร(๒) ถ้าเป็นสังขารเป็นขันธ์ ๕ ก็เรียกว่า วิสุทธิขันธ์ คือ ขันธ์ที่ไม่มีพิษไม่มีภัยแล้วไม่เป็นอันตราย เป็นขันธ์ที่หมดกิเลสแล้ว ขันธ์นี้สงบแล้วมีวิราคะธรรม มีอนาลโยแล้ว คือเรายอมตาย เราไม่กลัวตายนั่นแหละเรียกว่าไม่อาลัยในขันธ์ ๕

ทุก ๆ คนไม่ว่าหนุ่มสาว แก่เฒ่า มีสภาพ ความเป็นไปของชีวิตก็ต้องตายทั้งสิ้นอย่าได้เป็นผู้ประมาท อย่าเป็นผู้ผลัดวันประกันพรุ่ง จงรีบไขว่คว้าหาธรรม หาธรรมที่สูงสุดให้มีอยู่ในจิตเราให้ได้ แล้วเราก็จะพบแต่สันติสุขในอนาคต ในชาตินี้ สำหรับผู้ที่ยังอ่อนอายุนั้นให้เข้าใจว่า ผู้ที่ได้ธรรมพระโสดานั้น ก็ยังครองเรือนมีลูกมีผัวได้ทั้งนั้นไม่ใช่ห้าม แต่ถ้าพ้นจากพระโสดาไปแล้ว เช่นได้ธรรมพระสกทาคามี นั่นมีไม่ได้แล้วต้องโดดเดี่ยว ธรรมพระสกทาคามีและธรรมพระอนาคามีนี่ไม่มีแล้ว พดถึงธรรมขั้นพระอนาคามีนั้น ราคะ ตัดได้หมด เด็ดขาด และ โทสะ ก็ละได้หมดเด็ดขาดจึงไม่มีการที่จะมาครองเรือนมีผัวมีเมียกันอีก เพราะตัดเสียแล้วซึ่งความผูกพันที่จะทำให้เกิดมีการปฏิสนธิจิตแก่สัตว์โลก ธรรมโพชฌงค์นี้ก็แสดงมาประมาณ ๓๐ นาที คงจะพอดี…จบเพียงเท่านี้...

* สังขาร ๓ : หมายถึงสภาพที่ปรุงแต่ง อันมี
๑. กายสังขาร : สภาพที่ปรุงแต่งกายได้แก่ อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้าออก
๒.วจีสังขาร : สภาพที่ปรุงแต่งวาจา ได้แก่ วิตก , วิจาร
๓.จิตตสังขาร : สภาพที่ปรุงแต่งใจ ได้แก่ สัญญา (ความจำ) และเวทนา ( ความรู้สึก )
สังขาร ๓ :ในที่นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้เข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ดับไป ตามลำดับ
*วิสังขาร :หมายถึงธรรมที่ปราศจากปรุงแต่ง คือพระนิพพาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น